ฉายภาพ 5 ฉากทัศน์อนาคตของกรุงเทพฯ อีก 30 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร โดย ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC)
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมมือกับ ศูนย์วิจัย Arup Foresight and Innovation ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษา 5 ฉากทัศน์อนาคต ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2050 ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและเมืองใกล้เคียง หรือเรียกว่า Greater Bangkok ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกไป 150 กม. เพื่อสร้างการฉุกคิด และตอบโจทย์ความจำเป็นของการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายภาพของฉากทัศน์ผ่านการวิเคราะห์ครอบคลุมมิติทั้ง 6 ด้าน ได้แก่
- การใช้ชีวิต (Live)
- การทำงาน (Work)
- การเรียนรู้ (Learn)
- การใช้เวลาว่าง (Play)
- การคมนาคม (Mobility)
- การดูแลทุกสิ่งชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainability)
“งานวิจัย 5 ฉากทัศน์อนาคตของ Greater Bangkok เป็นการต่อยอดการศึกษาเมกะเทรนด์ (Mega Trends) ของ Greater Bangkok ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา โดยยังคงประเด็นการศึกษาในเรื่องของเมือง หรือ Urbanisation เรามองว่า การทำงานวิจัยในประเด็นของฉากทัศน์อนาคตจะช่วยทำให้เรา มองไปสู่อนาคตที่พึ่งประสงค์ร่วมกัน ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่คน แต่ยังร่วมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ฉากทัศน์ในอนาคตที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เป็นการบอกชี้ชัดว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น แต่เป็นการช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ที่รอบด้านมากขึ้น ทุกฉากทัศน์มีทั้งโอกาสและความท้าทายทั้งสิ้น จะช่วยกระตุ้นความคิดหากว่าเกิดเหตุการณ์ใดในอนาคต จะสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที” ดร.การดี กล่าว
ดร.แอนน์ โควาเซวิช ไวท์ จาก หัวหน้าศูนย์วิจัย Arup Foresight and Innovation ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “ในขณะที่โลกเริ่มตื่นตัวจาก COVID-19 การมองไปข้างหน้าและศึกษาถึงอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นของกรุงเทพฯ ในปี 2050 จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและน่าสนใจมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดวิถีการใช้ชีวิตแนวใหม่มากมายทั้งด้านการทำงาน การเดินทาง และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทุกคนต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศจะเห็นผลกระทบได้ชัด และมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ผู้คนยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต โดยหลายเมืองกำลังออกแบบเพื่อรองรับกับปัญหานี้ อีกทั้งคนสูงวัยยังต้องการวิธีการดูแลรักษาร่างกายและจิตใจให้กระฉับกระเฉงและแจ่มใสอยู่เสมอ จากเรื่องราวทั้งหมดนี้เราได้ดึงเทรนด์โลกบางอย่างมาวิจัยเพื่อนำไปสู่ 5 ฉากทัศน์อนาคต ซึ่งสามารถใช้วางกลยุทธ์ วิเคราะห์จุดด้อย และพิจารณาโอกาสของกรุงเทพฯในอนาคต”
ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า Greater Bangkok นำไปสู่ความเป็นไปได้ของ 5 ฉากทัศน์อนาคต ดังนี้
เมืองแห่งเทคโนโลยี (Technotopia) ปัจจัยหลักที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดฉากทัศน์นี้ ได้แก่ การพัฒนาของระบบอัตโนมัติ การขยายตัวของคมนาคมที่เชื่อมโยงทั้งภูมิภาคไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ยกตัวอย่างในฉากทัศนี้ เด็กวัย 7 ขวบจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทั้งการเข้าเรียนระบบออนไลน์จากบนเตียงนอน รวมถึงใช้อุปกรณ์ VR เข้ามาเรียนรู้ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียนอีกต่อไป เรากำลังเห็นภาพว่า ใน 30 ปีจากนี้ หลังจากที่ทั่วโลกโดนผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบริษัทเทคฯ มหาอำนาจ นำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนและเชื่อมโยง และประเทศไทยอาจจะนำวิธีการคิดและการปฎิบัติการด้านการปกครองของบริษัทเทคฯ เข้ามาบริหารและบริการประชาชนมากขึ้น
ประเทศไทยต้องแน่ใจว่าจะบริหารจัดการหนี้ต่างๆ จากการกู้ยืมภายในปี 2030 เพื่อช่วยระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาเมืองโดยรอบ และ การเพิ่มขึ้นของประชากรกว่า 25 ล้านคนในกรุงเทพและเมืองโดยรอบ จะส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดศูนย์รวมการทำธุรกิจของเอเชียภายในปี 2050
พื้นที่สุขภาพนิยม (Urban Playgrounds) คนจะให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น หรือ Active Lifestyle ในทุกช่วงอายุ รวมถึงแนวโน้มถึงนโยบายที่ส่งเสริมในการพัฒนาเมืองเพื่อให้พร้อมกับกิจกรรมต่างๆ และพัฒนาทักษะของคนที่อยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้น ที่จะดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อทำงานมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการทำงานเพื่อออกแบบและตอบโจทย์ให้กับความหลากหลายของคนในเมือง เช่น ผู้บกพร่องทางร่างกาย แต่ว่ายังสามารถออกมาทำกิจกรรมด้านกายภาพได้อยู่ เป็นต้น
ซึ่งประเทศไทยควรมุ่งพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์กับคนทุกช่วงวัย ให้หันมาสนใจด้านสุขภาพ รวมถึง พัฒนาพื้นที่โดยรอบให้ปลอดภัย ส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้อาศัยอยู่ในเมือง ให้รู้สึกกระฉับกระเฉงตลอดเวลาภายในปี 2030 และเมื่อตอบโจทย์คนในประเทศได้ ในปี 2050 ไทยจะสามารถดึงดูดคนทั่วโลกที่สนใจด้าน Active Lifestyle ที่ตอบโจทย์ทางด้านนี้ได้อย่างสมบูรณ์
เมืองพร้อมรับทุกสภาวะ (Decentralised Resilience) การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่แปรปรวน รวมถึงสามารถกลับมาสร้างพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกับชุมชนโดยรอบ การคมนาคมระหว่างกรุงเทพและเมืองรอบๆ ควรเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานให้กับคนกรุงเทพ สามารถเดินทางได้ ถึงแม้ว่าจะเจอกับภาวะน้ำท่วมในเมืองก็ตาม นอกจากนี้ การดูแลคนในเมือง ชุมชน รวมถึงเมืองโดยรอบ เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เรากำลังเห็นภาพปัญหาหลักคือ ภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบขนส่ง หรือ ระบบการผลิตอาหาร จะทำให้ต้องเปลี่ยนแปลง หรือ ย้ายเมืองหลวงออกไป ซึ่งจะเกิดภาพของความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพเก่า (กรุงเทพที่โดนภัยพิบัติธรรมชาติ เช่นน้ำทะเลหนุนท่วมในเขตเมือง ที่ยังไม่พัฒนา) และ กรุงเทพใหม่ อาจจะเห็นภาพเศรษฐกิจภายในเมืองเก่าพังทลาย เกิดภาพคนจนเมือง คนไร้บ้านมากขึ้น และต้องอพยพไปอยู่ตึกทิ้งร้าง หรือ ออกไปนอกเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ในกรุงเทพเก่าอาจจะเกิดนวัตกรรมแบบไม่เป็นทางการ เช่น บ้านลอยน้ำ (floating house) หรือ โครงสร้างแบบบ้านกึ่งสำเร็จรูป (Pod House) หรือ การใช้ตึกร้างทำฟาร์มพลังงานสะอาดทางเลือก เป็นต้น ที่สามารถอยู่ร่วมกับภัยพิบัติอย่างเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ประเทศไทยควรมุ่งแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ทั้งในตัวเมืองกรุงเทพและเมืองโดยรอบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมแบบ Mix-Used และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ ภายในปี 2030 และ การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้ไทยมีเมืองที่รับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่สามารถบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างดี ภายในปี 2050
ขุมพลังของคนหลายเจน (Accelerated Generations) การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาทักษะ จะต้องได้รับการปรับปรุงอย่างมากในพื้นที่กรุงเทพและเมืองโดยรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการกลับมาของคนสูงวัยสู่ตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างคุณค่าร่วมกันโดยการดึงเอาชุมชนเข้ามาช่วยออกแบบกับคนเมือง ให้ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองและดูแลสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป
เพื่อตอบโจทย์การรองรับคนสูงวัยกลับเข้ามามีบทบาทในสังคมของกรุงเทพและเมืองโดยรอบ ประเทศไทยต้องใช้แนวคิดที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินเศรษฐกิจ เน้นภูมิปัญญาตะวันออกที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวและความสมดุลกับธรรมชาติ ภายในปี 2030 และ ไทยจะขับเคลื่อนเน้นความเป็นผู้นำด้าน Startups ในปี 2050 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนหลากหลายวัยภายในตลาดแรงงาน ที่หันมาร่วมมือกัน ประสานความรู้และเชี่ยวชาญของคนสูงวัยร่วมกับแนวคิดใหม่ของวัยทำงานในอนาคต
ไลฟ์สไตล์ผสานกายใจ (Transforming Lifestyle) การท่องเที่ยวจะมีจุดเปลี่ยนค่อนข้างสำคัญในอนาคต ควบคู่กับนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม จะมีส่วนช่วยสำคัญให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงสุขภาพมีนัยะสำคัญมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาทักษะของกลุ่มคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสำคัญเช่นกัน เรากำลังเห็นภาพ การเปลี่ยนแปลงมุมมองของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด จากการมองเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่และเที่ยวในไทยระยะยาวที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ นอกจากนี้เรายังเห็นถึงการเข้าถึงสุขภาวะการดำรงชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้คนดำเนินชีวิตช้าลง กลับมามองถึงคุณค่าของการดำรงชีวิตและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในอนาคต เพื่อวางกลยุทธ์ให้เมืองใหญ่และเมืองโดยรอบในการตอบโจทย์ Mega City ภายในปี 2030 ที่สะท้อนความเป็นเมืองสีเขียว ฟื้นฟูสุขภาพกายใจ และสร้างพื้นที่เพื่อพัฒนาทักษะในอนาคต ให้ดึงดูดคนทำงานจากทั่วโลกให้เข้ามา เพื่อย้ำเตือนจุดยืนความเป็นเมืองที่ส่งเสริมด้านความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นเมืองสีเขียวที่สามารถฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีพื้นที่การเรียนรู้ในอนาคตแบบใหม่ ถือเป็นเป้าหมายหลักในปี 2050
“FutureTales Lab by MQDC มุ่งเน้นที่จะวิเคราะห์และศึกษาในหลากหลายมุมในแต่ละฉากทัศน์ ในอีก 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นมุมของนักพัฒนาเมือง มุมของนักวางนโยบาย รวมถึงมุมของชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยนำข้อเสนอแนะให้กับแต่ละกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องของการพัฒนาเมือง ซึ่งจะทำให้ทุกส่วนสามารถเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อป้องกันและตอบโจทย์อนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกันได้อย่างราบรื่น” ดร.ภัณณิน กล่าว
ข้อมูลอ้างอิง : งานวิจัย Future of Urbanisation Scenarios
Megatrends : https://drive.google.com/file/d/1FwJDRUFtCheTytxggg-nItHqmmnr1ivy/view
Future Scenarios : https://drive.google.com/file/d/1ecBXkbiKWW6shULsbaUz9BrR_R6xRHfs/view